พระราชบัญญัติ

ป่าชุมชน

พ.ศ. ๒๕๖๒

                  

 

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ

พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๒

เป็นปีที่ ๔ ในรัชกาลปัจจุบัน

 

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

 

โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยป่าชุมชน

 

พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๖ ประกอบกับมาตรา ๒๘ มาตรา ๓๗ และมาตรา ๔๓ (๒) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

 

เหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนได้ร่วมกับรัฐในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติในป่าชุมชนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพอันจะส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศมีความสมบูรณ์และยั่งยืน ซึ่งการตราพระราชบัญญัตินี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว

 

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้

 

มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. ๒๕๖๒”

 

มาตรา ๒[๑]  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป เว้นแต่บทบัญญัติในหมวด ๔ หมวด ๕ หมวด ๖ หมวด ๗ และหมวด ๘ และมาตรา ๙๗ มาตรา ๙๘ มาตรา ๙๙ มาตรา ๑๐๐ มาตรา ๑๐๑ มาตรา ๑๐๒ และมาตรา ๑๐๓ ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

มาตรา ๓  บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้มุ่งหมายให้บุคคลและชุมชนได้ประโยชน์จากป่าชุมชน เกิดเจตคติในการดูแลรักษาและจัดการป่าชุมชนร่วมกับรัฐ เพื่อป้องกันการตัดไม้โดยผิดกฎหมายและการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่า เพื่อรักษาและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพในป่าให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์และคงอยู่เป็นมรดกทางธรรมชาติของประเทศและของมนุษยชาติสืบไป และมุ่งหมายเพื่อกำหนดสาระแห่งสิทธิของบุคคลและชุมชนในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู จัดการ บำรุงรักษาตลอดจนใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ อย่างสมดุลและยั่งยืนตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติรับรอง

 

มาตรา ๔  ในพระราชบัญญัตินี้

“ป่าชุมชน” หมายความว่า ป่านอกเขตป่าอนุรักษ์หรือพื้นที่อื่นของรัฐนอกเขตป่าอนุรักษ์ที่ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งเป็นป่าชุมชน โดยชุมชนร่วมกับรัฐในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู จัดการ บำรุงรักษาตลอดจนใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพในป่าชุมชนอย่างสมดุลและยั่งยืนตามพระราชบัญญัตินี้

“ชุมชน” หมายความว่า กลุ่มประชาชนที่รวมตัวกันโดยมีวัตถุประสงค์หรือผลประโยชน์ร่วมกันเพื่อทำกิจกรรมอันชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งช่วยเหลือหรือสนับสนุนการดำเนินการใด ๆ อันเป็นประโยชน์ร่วมกันของประชาชนในชุมชนนั้น โดยมีการรวมตัวกันอย่างต่อเนื่อง มีระบบบริหารจัดการในรูปของคณะบุคคลและมีการแสดงเจตนาแทนชุมชนได้

“เขตป่าอนุรักษ์” หมายความว่า เขตอุทยานแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่าตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า หรือเขตพื้นที่อื่นใดที่มีคุณค่าทางธรรมชาติ หรือคุณค่าอื่นอันควรแก่การอนุรักษ์หรือรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

“ไม้” หมายความว่า ไม้ทุกชนิดทั้งที่เป็นต้น กอ หรือเถา ไม่ว่ายังยืนต้นหรือล้มลงแล้ว ทั้งที่มีชีวิตหรือไม่มีชีวิต และให้หมายความรวมถึงราก ปุ่ม ตอ หน่อ กิ่ง ตา หัว เหง้า เศษ ปลาย หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของไม้ ไม่ว่าจะถูกตัด ฟัน เลื่อย ผ่า ถาก ทอน ขุด หรือกระทำโดยวิธีการอื่นใด

“ใช้ประโยชน์จากไม้” หมายความว่า ตัด ฟัน กาน โค่น ลิด เลื่อย ผ่า ถาก ทอน ขุด หรือชักลากไม้ที่มีอยู่ในป่าชุมชนหรือนำไม้ที่มีอยู่ในป่าชุมชนออกจากป่าชุมชนด้วยประการใด ๆ

“ไม้ทรงคุณค่า” หมายความว่า ไม้หวงห้ามตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ และให้หมายความรวมถึงไม้อื่นใดที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ให้คงอยู่ต่อไปตามลักษณะหรือชนิดที่กำหนดในกฎกระทรวง

“ของป่า” หมายความว่า สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นหรือมีอยู่ในป่าชุมชน เป็นต้นว่า

(๑) ฟืน ถ่านไม้ ไม้ไผ่ เปลือกไม้ ใบไม้ ดอกไม้ เมล็ด ผลไม้ หน่อไม้ ชัน และยางไม้

(๒) หญ้า อ้อ พง แขม ปรือ คา กก กระจูด กูด เห็ด และพืชอื่น

(๓) ครั่ง รังผึ้ง น้ำผึ้ง ขี้ผึ้ง มูลค้างคาว

(๔) สัตว์บก สัตว์น้ำ สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ สัตว์ปีก แมลง รวมทั้งไข่ของแมลงที่ไม่ใช่สัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า

(๕) ดิน หิน กรวด และทราย ที่ไม่ใช่แร่ตามกฎหมายว่าด้วยแร่

“ฟืน” หมายความว่า เศษไม้ ปลายไม้ หรือไม้ล้มขอนนอนไพรตามธรรมชาติ อันมีลักษณะและคุณภาพเหมาะสมที่จะใช้เป็นเชื้อเพลิงยิ่งกว่าใช้ประโยชน์อย่างอื่น

“ความหลากหลายทางชีวภาพ” หมายความว่า ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตทั้งมวล และให้หมายความรวมถึงความหลากหลายทางพันธุกรรม ทางชนิดพันธุ์ และทางระบบนิเวศอันเป็นถิ่นกำเนิดของสิ่งมีชีวิตเหล่านั้น

“สมาชิกป่าชุมชน” หมายความว่า สมาชิกของป่าชุมชนที่ได้จัดตั้งตามพระราชบัญญัตินี้

“เครือข่ายป่าชุมชน” หมายความว่า การรวมตัวกันของคณะกรรมการจัดการป่าชุมชนหรือสมาชิกป่าชุมชนของป่าชุมชนต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายร่วมกัน เพื่อเรียนรู้ สร้างความเข้าใจ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อนำไปสู่การจัดการป่าชุมชนร่วมกันอย่างยั่งยืนและได้มีการจดแจ้งการเป็นเครือข่ายป่าชุมชนต่อกรมป่าไม้ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด

“ทรัพย์สินส่วนกลาง” หมายความว่า เงินและทรัพย์สินที่ได้มาเพื่อใช้ในการจัดการป่าชุมชน ไม้ที่สมาชิกป่าชุมชนร่วมกันปลูกในบริเวณเพื่อการใช้ประโยชน์ และทรัพย์สินที่สมาชิกป่าชุมชนร่วมกันจัดทำในการจัดการป่าชุมชน

“องค์กรภาคประชาสังคม” หมายความว่า องค์กรที่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์ด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ หรือองค์กรอื่นที่ไม่ได้เป็นนิติบุคคลแต่มีผลงานด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างต่อเนื่องเป็นที่ประจักษ์  ทั้งนี้ โดยมิได้มีการหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน และได้มีการจดแจ้งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมต่อกรมป่าไม้ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด

“คณะกรรมการนโยบาย” หมายความว่า คณะกรรมการนโยบายป่าชุมชน

“เจ้าหน้าที่ป่าชุมชน” หมายความว่า ผู้ซึ่งคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดแต่งตั้งจากสมาชิกป่าชุมชนซึ่งได้รับการเสนอชื่อโดยคณะกรรมการจัดการป่าชุมชน หรือแต่งตั้งจากเจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นเจ้าหน้าที่ป่าชุมชนเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

“อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมป่าไม้

“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา ๕  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่กับออกกฎกระทรวงและประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

กฎกระทรวงและประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

 

หมวด ๑

บททั่วไป

                  

 

มาตรา ๖  เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนได้ร่วมกับรัฐในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู จัดการ บำรุงรักษา ตลอดจนใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืนในรูปแบบของป่าชุมชน โดยป่าชุมชนต้องจัดตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้

(๑) การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ

(๒) การฟื้นฟูพื้นที่ป่าในเขตป่าชุมชนโดยการปลูกป่าทดแทน

(๓) การเสริมสร้างความร่วมมือทุกภาคส่วนในการจัดการป่าชุมชน

(๔) การส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณีที่หลากหลายของชุมชนในการอนุรักษ์ การฟื้นฟู การพัฒนา การควบคุมดูแล และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในป่าชุมชน

(๕) การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในป่าชุมชนอย่างสมดุลและยั่งยืน

 

มาตรา ๗  การจัดตั้งป่าชุมชนในพื้นที่ป่าหรือพื้นที่อื่นของรัฐตามพระราชบัญญัตินี้ไม่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงเขตหรือเพิกถอนพื้นที่ป่า หรือเปลี่ยนแปลงสถานะหรือถอนสภาพพื้นที่อื่นของรัฐที่นำมาจัดตั้งเป็นป่าชุมชน และมิให้นำกฎหมายว่าด้วยป่าไม้และกฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติมาใช้บังคับเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีการเพิกถอนป่าชุมชน โดยให้ใช้ระเบียบที่คณะกรรมการนโยบายกำหนดตามมาตรา ๑๘ แทน เว้นแต่พระราชบัญญัตินี้จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

 

มาตรา ๘  การจัดตั้งป่าชุมชนในพื้นที่อื่นของรัฐ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

พระราชกฤษฎีกาตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยต้องกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ขอจัดตั้งป่าชุมชน สมาชิกป่าชุมชน กรรมการจัดการป่าชุมชน และเจ้าหน้าที่ป่าชุมชน รวมทั้งหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดตั้งป่าชุมชน การจัดการป่าชุมชน การควบคุมดูแลป่าชุมชน การเพิกถอนป่าชุมชน และการอื่นที่จำเป็น

 

หมวด ๒

คณะกรรมการนโยบายป่าชุมชน

                  

 

มาตรา ๙  ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการนโยบายป่าชุมชน” ประกอบด้วย

(๑) รองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ

(๒) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นรองประธานกรรมการ

(๓) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อธิบดีกรมที่ดิน อธิบดีกรมธนารักษ์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์

(๔) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกินแปดคน ซึ่งประธานกรรมการแต่งตั้งจากผู้ได้รับการสรรหาจากกลุ่มผู้ซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ มีผลงาน และประสบการณ์เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือมนุษยศาสตร์หรือสังคมศาสตร์ จำนวนไม่เกินสองคน กลุ่มผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคม จำนวนไม่เกินสองคน และกลุ่มผู้แทนประธานเครือข่ายป่าชุมชนระดับจังหวัด จำนวนไม่เกินสี่คน

ให้อธิบดีเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้อธิบดีแต่งตั้งข้าราชการของกรมป่าไม้เป็นผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการนโยบายได้ตามความจำเป็น

 

มาตรา ๑๐  กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

ก. คุณสมบัติ

(๑) มีสัญชาติไทย

(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบห้าปี

(๓) มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ มีผลงาน และประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ตามมาตรา ๖

ข. ลักษณะต้องห้าม

(๑) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต

(๒) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

(๓) ติดยาเสพติดให้โทษ

(๔) เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกและพ้นโทษมายังไม่ถึงหนึ่งปีในวันที่ได้รับการสรรหา เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

(๕) เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ

(๖) เคยถูกไล่ออก ปลดออก ให้ออก หรือเลิกจ้างจากหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานของเอกชนเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง

 

มาตรา ๑๑  ให้มีคณะกรรมการสรรหาคณะหนึ่ง ทำหน้าที่สรรหาบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๙ (๔) ประกอบด้วย ผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และผู้แทนสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นกรรมการสรรหา

ให้อธิบดีแต่งตั้งผู้แทนกรมป่าไม้คนหนึ่งเป็นกรรมการสรรหาและเลขานุการ

ให้คณะกรรมการสรรหาเลือกกรรมการสรรหาคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการสรรหา

ให้กรมป่าไม้ปฏิบัติหน้าที่เป็นหน่วยธุรการของคณะกรรมการสรรหา

 

มาตรา ๑๒  ให้คณะกรรมการสรรหาตามมาตรา ๑๑ มีหน้าที่สรรหาและจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๐ ที่มาจากกลุ่มผู้ซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ มีผลงาน และประสบการณ์เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือมนุษยศาสตร์หรือสังคมศาสตร์ กลุ่มผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคม และกลุ่มผู้แทนประธานเครือข่ายป่าชุมชนระดับจังหวัด เป็นจำนวนสองเท่าของตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่จะมีการแต่งตั้งในแต่ละกลุ่มเสนอประธานกรรมการเพื่อพิจารณาเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิ

ให้ขึ้นบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิที่ประธานกรรมการมิได้เลือกเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไว้ในบัญชีรายชื่อสำรอง  ทั้งนี้ บัญชีรายชื่อสำรองให้ใช้บังคับได้ต่อไปจนกว่าจะมีการสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใหม่

หลักเกณฑ์ วิธีการสรรหา และการเสนอรายชื่อบุคคลเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการสรรหากำหนด

 

มาตรา ๑๓  กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันมิได้

ในระหว่างที่ยังมิได้แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่ ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานต่อไปจนกว่ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่

 

มาตรา ๑๔  ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะพ้นจากตำแหน่งตามวาระให้ดำเนินการจัดให้มีการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิใหม่ภายในเก้าสิบวันก่อนวันครบวาระ

 

มาตรา ๑๕  นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๑๓ วรรคหนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) ประธานกรรมการให้ออกเพราะบกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือหย่อนความสามารถ

(๔) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๐

ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้ประธานกรรมการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากบัญชีรายชื่อสำรองแทนตำแหน่งที่ว่าง และให้ผู้ได้รับการแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว เว้นแต่วาระของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเหลืออยู่ไม่ถึงเก้าสิบวัน ประธานกรรมการจะไม่แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแทนก็ได้และในระหว่างที่ยังไม่มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิให้คณะกรรมการนโยบายประกอบด้วยกรรมการเท่าที่เหลืออยู่

 

มาตรา ๑๖  คณะกรรมการนโยบายมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้

(๑) เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุนป่าชุมชนและเครือข่ายป่าชุมชน หรือพิจารณาให้ความเห็นในเรื่องที่เกี่ยวกับป่าชุมชนตามที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย

(๒) เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อกำหนดมาตรการทางการเงิน การคลัง หรือมาตรการอื่น เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานจัดการป่าชุมชนของคณะกรรมการจัดการป่าชุมชน

(๓) เสนอแนะในการตราพระราชกฤษฎีกาและการออกกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัตินี้

(๔) กำหนดระเบียบเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

(๕) ให้ความเห็นชอบบัญชีรายชื่อบุคคลซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ มีผลงานและประสบการณ์เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือมนุษยศาสตร์หรือสังคมศาสตร์ ผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคม และผู้แทนคณะกรรมการจัดการป่าชุมชนในจังหวัดต่าง ๆ ตามที่กรมป่าไม้เสนอเพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัด

(๖) จัดทำรายงานและผลการดำเนินงานป่าชุมชนทั่วประเทศพร้อมทั้งเสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีปีละหนึ่งครั้ง เพื่อเป็นแนวทางในการส่งเสริม การอนุรักษ์ การฟื้นฟูสภาพธรรมชาติในป่าชุมชน หรือการสนับสนุนการจัดการป่าชุมชน

(๗) พิจารณาอุทธรณ์มติเกี่ยวกับการขอจัดตั้งหรือเพิกถอนป่าชุมชน

(๘) พิจารณาอุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดที่สั่งการตามมาตรา ๗๔ และพิจารณาการนำเสนอของอธิบดีตามมาตรา ๗๖

(๙) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้หรือที่กฎหมายอื่นกำหนดให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการนโยบาย

ในการเสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุนป่าชุมชนและเครือข่ายป่าชุมชนตาม (๑) และการเสนอแนะในการตราพระราชกฤษฎีกาและการออกกฎกระทรวงตาม (๓) ให้คณะกรรมการนโยบายรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาเสนอความเห็นและเสนอแนะด้วย  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด

 

มาตรา ๑๗  ให้คณะกรรมการนโยบายกำหนดระเบียบว่าด้วยการจัดทำแผนจัดการป่าชุมชน การอนุรักษ์ การฟื้นฟู การพัฒนา การควบคุมดูแล และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในป่าชุมชน

ระเบียบตามวรรคหนึ่ง จะกำหนดให้คณะกรรมการจัดการป่าชุมชนไปดำเนินการออกข้อบังคับให้เหมาะสมกับสภาพของแต่ละป่าชุมชนตามกรอบแนวทางที่คณะกรรมการนโยบายกำหนดก็ได้

 

มาตรา ๑๘  ให้คณะกรรมการนโยบายกำหนดระเบียบว่าด้วยการปกครอง ดูแลบำรุงรักษา ใช้ประโยชน์จากไม้ และใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชุมชน โดยต้องคำนึงถึงกฎหมายว่าด้วยป่าไม้และกฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติด้วย

 

มาตรา ๑๙  การประชุมคณะกรรมการนโยบายต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม

ในการประชุมคณะกรรมการนโยบาย ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานกรรมการและรองประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม

การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

 

มาตรา ๒๐  ให้ประธานกรรมการและกรรมการได้รับเบี้ยประชุม ค่าพาหนะ ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเช่าที่พัก และค่าใช้จ่ายอย่างอื่น ตามระเบียบที่ประธานกรรมการกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง

 

มาตรา ๒๑  ให้คณะกรรมการนโยบายมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการนโยบายมอบหมายได้

ให้นำความในมาตรา ๑๙ และมาตรา ๒๐ มาใช้บังคับแก่คณะอนุกรรมการโดยอนุโลม

 

มาตรา ๒๒  ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้คณะกรรมการนโยบายและคณะอนุกรรมการตามมาตรา ๒๑ มีอำนาจเรียกให้บุคคลใดมาชี้แจงข้อเท็จจริง ให้ความเห็นหรือคำแนะนำ หรือส่งเอกสารเพื่อประกอบการพิจารณาได้

 

หมวด ๓

คณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัด

                  

 

มาตรา ๒๓  ให้มีคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัด ในจังหวัดที่มีคำขอจัดตั้งป่าชุมชนหรือมีการจัดตั้งป่าชุมชนแล้ว ประกอบด้วย

(๑) ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือรองผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายเป็นประธานกรรมการ

(๒) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ผู้แทนกระทรวงกลาโหม ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้แห่งท้องที่ อัยการจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ปลัดจังหวัด และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด

(๓) ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งท้องที่ที่ป่าชุมชนตั้งอยู่ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งจำนวนหนึ่งคน และเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ที่จัดตั้งป่าชุมชนซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในจังหวัดนั้นซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งจำนวนสองคนเป็นกรรมการ

(๔) ประธานเครือข่ายป่าชุมชนระดับจังหวัด เป็นกรรมการ

(๕) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งจำนวนไม่เกินเจ็ดคน

ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งข้าราชการของกรมป่าไม้เป็นเลขานุการตามที่อธิบดีเสนอ และแต่งตั้งผู้ช่วยเลขานุการอีกไม่เกินสองคน

ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการตาม (๓) หรือ (๔) ให้คณะกรรมการประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มีอยู่

 

มาตรา ๒๔  หลักเกณฑ์และวิธีการได้มา และการแต่งตั้งผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ที่จัดตั้งป่าชุมชนตามมาตรา ๒๓ (๓) ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด

 

มาตรา ๒๕  การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๒๓ (๕) ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาแต่งตั้งจากผู้ซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ มีผลงาน และประสบการณ์เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือมนุษยศาสตร์หรือสังคมศาสตร์ จำนวนไม่เกินสองคน ผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคม จำนวนไม่เกินสองคน และผู้แทนคณะกรรมการจัดการป่าชุมชนในจังหวัดจำนวนไม่เกินสามคน  ทั้งนี้ ตามบัญชีรายชื่อที่คณะกรรมการนโยบายให้ความเห็นชอบตามมาตรา ๑๖ (๕)

ให้นำความในมาตรา ๑๐ มาตรา ๑๓ มาตรา ๑๔ มาตรา ๑๕ มาตรา ๑๙ มาตรา ๒๐ และมาตรา ๒๒ มาใช้บังคับแก่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัด และการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดโดยอนุโลม

 

มาตรา ๒๖  คณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้

(๑) พิจารณาเกี่ยวกับการขอจัดตั้งป่าชุมชน การขยายเขตป่าชุมชน หรือการเพิกถอนป่าชุมชนไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

(๒) ขยายระยะเวลาในการพิจารณาคำขอจัดตั้งป่าชุมชนตามหมวด ๔ การจัดตั้งป่าชุมชน

(๓) มีมติให้กรรมการจัดการป่าชุมชนพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๔๔ วรรคสาม

(๔) แต่งตั้งและถอดถอนเจ้าหน้าที่ป่าชุมชนตามมาตรา ๒๗ และมาตรา ๓๐

(๕) พิจารณาอนุมัติแผนจัดการป่าชุมชน พิจารณาให้ความเห็นชอบข้อบังคับของคณะกรรมการจัดการป่าชุมชน และพิจารณาอนุญาตตามมาตรา ๕๐ วรรคสอง มาตรา ๕๒ มาตรา ๖๓ (๔) และมาตรา ๖๖

(๖) ให้คำแนะนำปรึกษาและความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ ต่อคณะกรรมการจัดการป่าชุมชนในการจัดการป่าชุมชน

(๗) ควบคุมดูแลการจัดการป่าชุมชนของคณะกรรมการจัดการป่าชุมชนให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ ระเบียบของคณะกรรมการนโยบาย ข้อบังคับของคณะกรรมการจัดการป่าชุมชน และแผนจัดการป่าชุมชน

(๘) ตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผลการจัดการป่าชุมชนในจังหวัด รวมทั้งจัดทำรายงานเสนอคณะกรรมการนโยบายอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง ตามระเบียบที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด

(๙) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้ หรือตามที่รัฐมนตรีหรือคณะกรรมการนโยบายมอบหมาย

 

มาตรา ๒๗  ให้คณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดมีอำนาจแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ป่าชุมชนเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๖๔ หรือปฏิบัติการอื่นใดตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้

การแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ป่าชุมชน ให้พิจารณาแต่งตั้งจากสมาชิกป่าชุมชนที่ได้รับการเสนอชื่อโดยคณะกรรมการจัดการป่าชุมชน เพื่อเป็นเจ้าหน้าที่ป่าชุมชนประจำป่าชุมชนที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก

ในกรณีมีความจำเป็นเพื่อช่วยควบคุมดูแลป่าชุมชนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของป่าชุมชนหรือเพื่อคุ้มครองป้องกันมิให้มีการบุกรุกหรือทำลายทรัพยากรธรรมชาติในป่าชุมชน คณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดจะแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องซึ่งปฏิบัติงานในพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อันเป็นที่ตั้งของป่าชุมชน เป็นเจ้าหน้าที่ป่าชุมชนด้วยก็ได้

 

มาตรา ๒๘  เจ้าหน้าที่ป่าชุมชนซึ่งแต่งตั้งจากสมาชิกป่าชุมชนต้องมีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีและมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามระเบียบที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด

 

มาตรา ๒๙  เจ้าหน้าที่ป่าชุมชนพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก กรณีเจ้าหน้าที่ป่าชุมชนซึ่งแต่งตั้งจากสมาชิกป่าชุมชน

(๓) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๒๘

 

มาตรา ๓๐  การถอดถอนเจ้าหน้าที่ป่าชุมชนตามมาตรา ๒๖ (๔) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

(๑) เมื่อเจ้าหน้าที่ป่าชุมชนไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๖๔

(๒) เมื่อเจ้าหน้าที่ป่าชุมชนฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ หรือระเบียบหรือข้อบังคับที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้

 

หมวด ๔

การจัดตั้งป่าชุมชน

                  

 

มาตรา ๓๑  เพื่อให้การจัดตั้งป่าชุมชนสอดคล้องกับการอนุรักษ์ ฟื้นฟู จัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ ตามที่บัญญัติไว้ในหมวด ๕ การจัดการป่าชุมชน การกำหนดขนาดของพื้นที่และสัดส่วนการใช้ประโยชน์ภายในพื้นที่ป่าชุมชนให้คำนึงถึงสภาพภูมิประเทศ ขนาดของชุมชน และศักยภาพของชุมชนที่มีความสามารถในการจัดการป่าชุมชนด้วย

การกำหนดขนาดของพื้นที่ป่าชุมชนและสัดส่วนการใช้ประโยชน์ภายในพื้นที่ป่าชุมชนตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด

 

มาตรา ๓๒  ชุมชนท้องที่ใดที่อยู่ในอำเภอเดียวกันกับพื้นที่ป่าซึ่งอยู่นอกเขตป่าอนุรักษ์ และมีความสามารถดูแลรักษาป่านั้นได้ หากประสงค์จะนำพื้นที่ป่านั้นมาจัดตั้งเป็นป่าชุมชน ให้บุคคลในชุมชนนั้นจำนวนตั้งแต่ห้าสิบคนขึ้นไปร่วมกันตั้งตัวแทนเป็นหนังสือเพื่อยื่นคำขอจัดตั้งป่าชุมชนต่อผู้ว่าราชการจังหวัด หรือในกรณีที่มีคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดแล้วให้ยื่นต่อคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดแห่งท้องที่ที่ป่านั้นตั้งอยู่หรือผู้ซึ่งคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดมอบหมาย

บุคคลตามวรรคหนึ่ง ต้องมีอายุตั้งแต่สิบแปดปีขึ้นไปและมีภูมิลำเนาอยู่ในท้องที่อันเป็นที่ตั้งของพื้นที่ป่าที่ขอจัดตั้งเป็นป่าชุมชนไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันที่ยื่นคำขอ

ในกรณีที่เป็นการนำพื้นที่ป่ามาขอจัดตั้งเป็นป่าชุมชน มิให้นำหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการขอใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้และกฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติมาใช้บังคับ และในกรณีที่เป็นการนำพื้นที่ป่าหรือป่าสงวนแห่งชาติที่เป็นป่าชายเลนมาจัดตั้งเป็นป่าชุมชน จะต้องได้รับความยินยอมจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งก่อนด้วย

ในกรณีที่มีการยื่นคำขอจัดตั้งป่าชุมชนในพื้นที่ป่าใดและล่วงพ้นกำหนดระยะเวลาปิดประกาศหรือเผยแพร่คำขอจัดตั้งป่าชุมชนนั้นตามมาตรา ๓๕ แล้ว จะมีการยื่นคำขอจัดตั้งป่าชุมชนโดยมีพื้นที่ซ้อนกันทั้งหมดหรือบางส่วนกับพื้นที่ป่าที่ได้มีการยื่นคำขอไว้ก่อนแล้วอีกมิได้

หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอจัดตั้งป่าชุมชนและการอนุมัติให้จัดตั้งป่าชุมชนให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด

 

มาตรา ๓๓  คำขอตามมาตรา ๓๒ และเอกสารหรือหลักฐานประกอบคำขออย่างน้อยต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้

(๑) วัตถุประสงค์ของป่าชุมชน

(๒) รายชื่อและประวัติโดยสังเขปของผู้ขอจัดตั้งป่าชุมชน ซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามการเป็นสมาชิกป่าชุมชนตามระเบียบที่คณะกรรมการนโยบายกำหนดตามมาตรา ๔๒ วรรคสอง

(๓) รายชื่อคณะกรรมการจัดการป่าชุมชนซึ่งเลือกตั้งจากผู้ขอจัดตั้งป่าชุมชนตาม (๒) โดยมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามการเป็นกรรมการจัดการป่าชุมชนตามระเบียบที่คณะกรรมการนโยบายกำหนดตามมาตรา ๔๒ วรรคสอง

(๔) ความเป็นมาของชุมชนโดยสังเขป สภาพพื้นที่ที่ขอจัดตั้งป่าชุมชนและแผนที่สังเขปแสดงอาณาเขตและเขตติดต่อ

(๕) แผนจัดการป่าชุมชนซึ่งต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของป่าชุมชน มีการกำหนดบริเวณเพื่อการอนุรักษ์และบริเวณเพื่อการใช้ประโยชน์ หรือบริเวณเพื่อการอนุรักษ์เพียงอย่างเดียว ให้สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศและสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนในชุมชน รวมทั้งแสดงให้เห็นถึงแผนและวิธีดำเนินการอนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนา หรือควบคุมดูแลสภาวะแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในป่าชุมชนอย่างยั่งยืน โดยต้องไม่ทำให้เกิดการสูญเสียสภาพความเป็นป่าทั้งในบริเวณเพื่อการอนุรักษ์และบริเวณเพื่อการใช้ประโยชน์

(๖) รายการอื่นตามที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด

 

มาตรา ๓๔  ให้สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้แห่งท้องที่ที่อธิบดีมอบหมาย ตรวจสอบคำขอจัดตั้งป่าชุมชนและเอกสารหรือหลักฐานประกอบคำขอให้แล้วเสร็จภายในสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ

ในกรณีที่คำขอจัดตั้งป่าชุมชนและเอกสารหรือหลักฐานประกอบคำขอไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วนให้สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้แห่งท้องที่แจ้งให้ผู้ยื่นคำขอจัดตั้งป่าชุมชนแก้ไขเพิ่มเติมคำขอ หรือจัดส่งเอกสารหรือหลักฐานให้ถูกต้องและครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กำหนดซึ่งต้องไม่น้อยกว่าสามสิบวัน

ในกรณีที่ผู้ยื่นคำขอจัดตั้งป่าชุมชนไม่แก้ไขเพิ่มเติมคำขอ หรือไม่จัดส่งเอกสารหรือหลักฐานให้ถูกต้องและครบถ้วนภายในระยะเวลาตามวรรคสอง ให้ถือว่าคำขอจัดตั้งป่าชุมชนนั้นเป็นอันยกเลิกนับแต่วันที่พ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าว และให้สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้แห่งท้องที่แจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ยื่นคำขอจัดตั้งป่าชุมชนทราบ

 

มาตรา ๓๕  ให้สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้แห่งท้องที่ตรวจสอบและรังวัดพื้นที่ที่ขอจัดตั้งป่าชุมชน พร้อมทั้งจัดทำแผนที่แสดงแนวเขตของป่าชุมชนที่ขอจัดตั้งให้แล้วเสร็จภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่คำขอจัดตั้งป่าชุมชนและเอกสารหรือหลักฐานถูกต้องและครบถ้วนโดยกรณีที่พบว่าพื้นที่บริเวณใดเป็นพื้นที่ที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐ หรือบุคคลใดได้รับอนุญาตเข้าทำประโยชน์ พื้นที่ที่กรมป่าไม้ใช้หรือจัดการหรือประกาศเป็นพื้นที่วิจัยหรือจัดการใด ๆ หรือที่ดินที่บุคคลได้มาตามประมวลกฎหมายที่ดิน ให้กันบริเวณดังกล่าวออกจากพื้นที่ที่จะขอจัดตั้งป่าชุมชน

ให้สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้แห่งท้องที่ปิดประกาศคำขอจัดตั้งป่าชุมชนพร้อมทั้งแผนที่แสดงแนวเขตของป่าชุมชนที่ขอจัดตั้งไว้ในที่เปิดเผย ณ ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ และที่ทำการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แห่งท้องที่ที่พื้นที่ป่าที่ขอจัดตั้งป่าชุมชนตั้งอยู่หรือสถานที่อื่น หรือเผยแพร่โดยวิธีการอื่นตามที่คณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดเห็นสมควรเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าสามสิบวัน

การจัดทำแผนที่แสดงแนวเขตป่าชุมชนตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด

 

มาตรา ๓๖  ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐใด หรือบุคคลซึ่งอยู่ระหว่างยื่นคำขอทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าที่ขอจัดตั้งป่าชุมชน หรือบุคคลตามมาตรา ๓๕ ไม่ว่าจะอยู่ในท้องที่อันเป็นที่ตั้งของพื้นที่ที่ประสงค์จะจัดตั้งเป็นป่าชุมชนนั้นหรือไม่ มีสิทธิทำหนังสือแสดงข้อคัดค้านการขอจัดตั้งป่าชุมชนต่อคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดภายในกำหนดระยะเวลาปิดประกาศหรือเผยแพร่คำขอจัดตั้งป่าชุมชนตามมาตรา ๓๕ ในกรณีที่ระยะเวลาการปิดประกาศหรือเผยแพร่คำขอมิได้ครบกำหนดในวันเดียวกัน ให้นับจากวันที่ครบกำหนดหลังสุดเป็นเกณฑ์

 

มาตรา ๓๗  ให้สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้แห่งท้องที่พิจารณาข้อคัดค้านการจัดตั้งป่าชุมชนตามมาตรา ๓๖ และจัดทำรายงานผลการตรวจสอบคำขอจัดตั้งป่าชุมชน แผนที่แสดงแนวเขตของป่าชุมชน และความเห็นเกี่ยวกับความเหมาะสมในการจัดตั้งป่าชุมชนนั้นเสนอคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดพิจารณาภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่ครบกำหนดระยะเวลาการปิดประกาศหรือเผยแพร่คำขอจัดตั้งป่าชุมชนตามมาตรา ๓๕

รายงานผลการตรวจสอบคำขอจัดตั้งป่าชุมชนตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด

 

มาตรา ๓๘  ให้คณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดพิจารณาคำขอจัดตั้งป่าชุมชน แผนจัดการป่าชุมชน และรายงานผลการตรวจสอบ ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับรายงานผลการตรวจสอบตามมาตรา ๓๗

ในกรณีที่คณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดเห็นว่าแผนจัดการป่าชุมชนไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสม ให้แจ้งให้ผู้ยื่นคำขอจัดตั้งป่าชุมชนแก้ไขแผนจัดการป่าชุมชนได้ โดยต้องแก้ไขให้แล้วเสร็จภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัด

ในกรณีที่มิได้แก้ไขแผนจัดการป่าชุมชนให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนดตามวรรคสอง ให้ถือเป็นเงื่อนไขที่คณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดจะไม่พิจารณาอนุมัติให้จัดตั้งป่าชุมชนได้

 

มาตรา ๓๙  เมื่อคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดมีมติให้จัดตั้งป่าชุมชนตามคำขอทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน หรือโดยกำหนดเงื่อนไข หรือมีมติไม่ให้จัดตั้งป่าชุมชนแล้วให้คณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดมีหนังสือแจ้งมติดังกล่าวให้ผู้ยื่นคำขอจัดตั้งป่าชุมชนผู้มีหนังสือคัดค้าน และอธิบดี ทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่คณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดมีมติ

ผู้ขอจัดตั้งป่าชุมชนหรือผู้มีหนังสือคัดค้านมีสิทธิอุทธรณ์มติของคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดต่อคณะกรรมการนโยบายภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งมติตามวรรคหนึ่ง

ในกรณีที่อธิบดีไม่เห็นด้วยกับมติของคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัด ให้เสนอความเห็นต่อคณะกรรมการนโยบายพิจารณาภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งมติตามวรรคหนึ่ง

ให้คณะกรรมการนโยบายพิจารณาอุทธรณ์ตามวรรคสองหรือความเห็นของอธิบดีตามวรรคสามให้แล้วเสร็จภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์หรือความเห็นของอธิบดี คำวินิจฉัยของคณะกรรมการนโยบายให้เป็นที่สุด และให้คณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดปฏิบัติให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยดังกล่าว

หนังสือแจ้งของคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัด คำอุทธรณ์ของผู้ขอจัดตั้งป่าชุมชน หรือผู้มีหนังสือคัดค้าน ความเห็นของอธิบดี และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการนโยบายต้องแสดงเหตุผลโดยชัดแจ้ง

 

มาตรา ๔๐  ในกรณีที่คณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดมีมติอนุมัติแผนจัดการป่าชุมชนและให้จัดตั้งป่าชุมชนได้ โดยอธิบดีเห็นด้วยกับมติของคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดตามมาตรา ๓๙ วรรคหนึ่ง และปรากฏว่าไม่มีการอุทธรณ์จนพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ตามมาตรา ๓๙ วรรคสอง หรือในกรณีที่คณะกรรมการนโยบายพิจารณาความเห็นที่ได้รับจากอธิบดีตามมาตรา ๓๙ วรรคสาม หรือพิจารณาอุทธรณ์ตามมาตรา ๓๙ วรรคสองแล้วมีคำวินิจฉัยให้จัดตั้งป่าชุมชนได้ ให้อธิบดีประกาศการอนุมัติจัดตั้งป่าชุมชนในราชกิจจานุเบกษา โดยมีสาระสำคัญตามที่กำหนดในระเบียบของคณะกรรมการนโยบาย และให้มีแผนที่แสดงแนวเขตของป่าชุมชนนั้นแนบท้ายประกาศด้วย

การจัดตั้งป่าชุมชนมีผลเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว

 

มาตรา ๔๑  ในระหว่างระยะเวลาปิดประกาศหรือเผยแพร่คำขอจัดตั้งป่าชุมชนตามมาตรา ๓๕ หากปรากฏว่ามีการยื่นคำขอจัดตั้งป่าชุมชนในพื้นที่ป่าแห่งเดียวกันมากกว่าหนึ่งคำขอ โดยแต่ละคำขอระบุเขตป่าชุมชนที่จะขอจัดตั้งซ้อนพื้นที่กันทั้งหมดหรือบางส่วน ให้สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้แห่งท้องที่ระงับการพิจารณาคำขอจัดตั้งป่าชุมชนที่มีพื้นที่ซ้อนกันนั้นและแจ้งให้ผู้ยื่นคำขอจัดตั้งป่าชุมชนดังกล่าวทำความตกลงร่วมกันเกี่ยวกับพื้นที่ที่ขอจัดตั้งป่าชุมชน องค์ประกอบของคณะกรรมการจัดการป่าชุมชน แผนจัดการป่าชุมชน และรายละเอียดต่าง ๆ ที่ระบุไว้ในคำขอจัดตั้งป่าชุมชน  ทั้งนี้ จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้แห่งท้องที่

ในกรณีที่ผู้ยื่นคำขอจัดตั้งป่าชุมชนตามวรรคหนึ่งทำความตกลงร่วมกันได้โดยขอถอนคำขอจัดตั้งป่าชุมชน คงเหลือคำขอจัดตั้งป่าชุมชนเพียงคำขอเดียว ให้สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้แห่งท้องที่พิจารณาคำขอจัดตั้งป่าชุมชนนั้นต่อจากขั้นตอนที่ระงับการพิจารณาไว้ และจำหน่ายคำขอจัดตั้งป่าชุมชนที่ผู้ยื่นคำขอจัดตั้งป่าชุมชนขอถอนออกจากสารบบ

ในกรณีที่ผู้ยื่นคำขอจัดตั้งป่าชุมชนตามวรรคหนึ่งทำความตกลงร่วมกันได้ และขอถอนคำขอจัดตั้งป่าชุมชนที่ยื่นไว้เพื่อร่วมกันจัดทำคำขอจัดตั้งป่าชุมชนเป็นคำขอเดียว ให้สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้แห่งท้องที่จำหน่ายคำขอจัดตั้งป่าชุมชนที่ระงับการพิจารณาไว้ออกจากสารบบ

ในกรณีที่ผู้ยื่นคำขอจัดตั้งป่าชุมชนไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง ให้สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้แห่งท้องที่จำหน่ายคำขอจัดตั้งป่าชุมชนที่ระงับการพิจารณาไว้ออกจากสารบบ

 

หมวด ๕

การจัดการป่าชุมชน

                  

 

มาตรา ๔๒  เมื่อได้ประกาศการจัดตั้งป่าชุมชนแล้ว ให้ผู้ซึ่งมีรายชื่ออยู่ในบัญชีตามมาตรา ๓๓ (๒) เป็นสมาชิกป่าชุมชน และ (๓) เป็นคณะกรรมการจัดการป่าชุมชน

ประเภท คุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของสมาชิกป่าชุมชนและกรรมการจัดการป่าชุมชน การแก้ไขเปลี่ยนแปลงสมาชิกป่าชุมชน การเลือกตั้งคณะกรรมการจัดการป่าชุมชน องค์ประกอบและจำนวนกรรมการ วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง การดำรงตำแหน่งแทนกรรมการจัดการป่าชุมชนที่พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด

 

มาตรา ๔๓  การจัดการป่าชุมชน ให้กระทำโดยคณะกรรมการจัดการป่าชุมชนร่วมกับสมาชิกป่าชุมชน ซึ่งต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของป่าชุมชนและแผนจัดการป่าชุมชนที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัด  ทั้งนี้ การแสดงเจตนาของคณะกรรมการจัดการป่าชุมชนให้กระทำโดยมติคณะกรรมการจัดการป่าชุมชน

 

มาตรา ๔๔  ให้คณะกรรมการจัดการป่าชุมชนมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้

(๑) ร่วมมือกับพนักงานเจ้าหน้าที่ในการจัดให้มีหลักเขต ป้าย หรือเครื่องหมายอื่นตามมาตรา ๔๙

(๒) ออกข้อบังคับเกี่ยวกับการจัดการป่าชุมชน หลักเกณฑ์การรับบุคคลเป็นสมาชิกป่าชุมชน และการจัดการทรัพย์สินส่วนกลางของป่าชุมชน  ทั้งนี้ ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบของคณะกรรมการนโยบาย

(๓) ดูแลรักษาป่าชุมชน บำรุงและฟื้นฟูป่าชุมชน ส่งเสริมการศึกษาเรียนรู้และสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพในป่าชุมชน และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ป่าชุมชน

(๔) ดูแลรักษาทรัพย์สินส่วนกลางของป่าชุมชน รวมทั้งจัดทำบัญชีทรัพย์สินส่วนกลางของป่าชุมชนตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกำหนด และรายงานให้คณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดทราบทุกปี

(๕) ดูแลให้สมาชิกป่าชุมชนปฏิบัติหน้าที่ที่กำหนดตามพระราชบัญญัตินี้

(๖) สั่งให้ผู้หนึ่งผู้ใดที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับตาม (๒) ออกจากป่าชุมชน หรือให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการใด ๆ ในเขตป่าชุมชน เพื่อให้เป็นไปตามข้อบังคับตาม (๒) หรือพระราชบัญญัตินี้

(๗) ไกล่เกลี่ยหรือประนีประนอมเมื่อเกิดความขัดแย้งในการจัดการป่าชุมชน

(๘) ช่วยเหลือพนักงานเจ้าหน้าที่ในกรณีที่มีการจับกุมปราบปรามผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้

(๙) มีมติรับบุคคลเป็นสมาชิกป่าชุมชน หรือมีมติด้วยคะแนนเสียงจำนวนไม่น้อยกว่าสามในสี่ให้สมาชิกป่าชุมชนพ้นจากการเป็นสมาชิกป่าชุมชน

(๑๐) ดำเนินการตามที่เห็นสมควรเพื่อป้องกันหรือบรรเทาความเสียหายแก่ป่าชุมชน

(๑๑) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ หรือตามที่คณะกรรมการนโยบายหรือคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดกำหนดให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการจัดการป่าชุมชน

การออกข้อบังคับตาม (๒) ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดก่อน

ในกรณีที่คณะกรรมการจัดการป่าชุมชนหรือกรรมการจัดการป่าชุมชนฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ คณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดจำนวนไม่น้อยกว่าสามในสี่ของคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดทั้งหมดเท่าที่มีอยู่อาจมีมติให้กรรมการจัดการป่าชุมชนทั้งคณะหรือกรรมการจัดการป่าชุมชนที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหน้าที่พ้นจากการเป็นกรรมการจัดการป่าชุมชน และมิให้ผู้นั้นกลับมาเป็นกรรมการจัดการป่าชุมชนอีก

 

มาตรา ๔๕  สมาชิกป่าชุมชนมีหน้าที่ในการดูแลรักษาป่าชุมชน ดังต่อไปนี้

(๑) ปฏิบัติตามระเบียบของคณะกรรมการนโยบาย ข้อบังคับของคณะกรรมการจัดการป่าชุมชนและแผนจัดการป่าชุมชน

(๒) ร่วมมือกับทางราชการในการดูแลรักษาป่าชุมชน สัตว์ป่า และทรัพยากรธรรมชาติในป่าชุมชน

(๓) ร่วมมือกับคณะกรรมการจัดการป่าชุมชนในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติในป่าชุมชน

สมาชิกป่าชุมชนที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ คณะกรรมการจัดการป่าชุมชนจำนวนไม่น้อยกว่าสามในสี่ของคณะกรรมการจัดการป่าชุมชนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่อาจมีมติให้สมาชิกป่าชุมชนผู้นั้นพ้นจากการเป็นสมาชิกป่าชุมชนได้

 

มาตรา ๔๖  แผนจัดการป่าชุมชนที่คณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดอนุมัติแล้วให้ใช้บังคับได้เป็นเวลาห้าปี

ให้คณะกรรมการจัดการป่าชุมชนเสนอแผนจัดการป่าชุมชนต่อคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดพิจารณาอนุมัติก่อนแผนจัดการป่าชุมชนเดิมหมดอายุไม่น้อยกว่าหกเดือน

ในการพิจารณาแผนจัดการป่าชุมชน หากคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดเห็นว่าแผนจัดการป่าชุมชนไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสม ให้แจ้งให้คณะกรรมการจัดการป่าชุมชนแก้ไขแผนจัดการป่าชุมชนดังกล่าวภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัด

ในกรณีที่คณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดไม่อนุมัติแผนจัดการป่าชุมชนตามวรรคสอง ให้นำความในมาตรา ๓๙ ในส่วนที่เกี่ยวกับการอุทธรณ์มติและการพิจารณาอุทธรณ์มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ในกรณีที่คณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดอนุมัติแผนจัดการป่าชุมชนใหม่แล้ว ให้นำแผนจัดการป่าชุมชนดังกล่าวมาใช้บังคับถัดจากวันที่แผนจัดการป่าชุมชนเดิมหมดอายุลงหรือในวันที่คณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดกำหนด แล้วแต่กรณี

ในระหว่างที่แผนจัดการป่าชุมชนเดิมหมดอายุลง ถ้าคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดยังไม่อนุมัติแผนจัดการป่าชุมชนใหม่ ให้นำแผนจัดการป่าชุมชนเดิมมาใช้ต่อไปจนกว่าจะมีการอนุมัติแผนจัดการป่าชุมชนใหม่

 

มาตรา ๔๗  ในกรณีที่คณะกรรมการจัดการป่าชุมชนประสงค์จะปรับปรุงแผนจัดการป่าชุมชนในระหว่างที่แผนจัดการป่าชุมชนยังไม่หมดอายุ ให้คณะกรรมการจัดการป่าชุมชนเสนอแผนจัดการป่าชุมชนที่ปรับปรุงแล้วต่อคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดพิจารณาอนุมัติ และให้นำความในมาตรา ๔๖ วรรคสามและวรรคสี่ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

เมื่อคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดอนุมัติแผนจัดการป่าชุมชนที่ปรับปรุงแล้ว ให้นำแผนจัดการป่าชุมชนดังกล่าวมาใช้บังคับแทนแผนจัดการป่าชุมชมเดิมในวันที่คณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดกำหนด

 

มาตรา ๔๘  ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร คณะกรรมการจัดการป่าชุมชนอาจขอขยายเขตป่าชุมชนหรือขอให้เพิกถอนป่าชุมชนทั้งหมดหรือบางส่วนได้ แต่ต้องแสดงเหตุผลและรายละเอียดโดยชัดแจ้ง

ในกรณีที่เป็นการขอขยายเขตป่าชุมชน ให้นำความในมาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๔ มาตรา ๓๕ มาตรา ๓๖ มาตรา ๓๗ มาตรา ๓๘ มาตรา ๓๙ มาตรา ๔๐ และมาตรา ๔๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ในกรณีที่เป็นการขอเพิกถอนป่าชุมชนบางส่วน เมื่ออธิบดีมีคำสั่งให้เพิกถอนป่าชุมชนตามมาตรา ๗๘ แล้ว ให้คณะกรรมการจัดการป่าชุมชนปรับปรุงแผนจัดการป่าชุมชนให้สอดคล้องกับพื้นที่ของป่าชุมชนที่ลดลง และเสนอคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดพิจารณาอนุมัติภายในหกสิบวันนับแต่วันที่อธิบดีมีคำสั่ง และให้นำความในมาตรา ๔๗ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

มาตรา ๔๙  พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องจัดให้มีหลักเขต ป้าย หรือเครื่องหมายอื่นแสดงแนวเขตป่าชุมชน บริเวณเพื่อการอนุรักษ์ และบริเวณเพื่อการใช้ประโยชน์ไว้โดยรอบเพื่อให้ประชาชนเห็นได้ว่าเป็นเขตป่าชุมชน รวมทั้งต้องจัดให้มีการซ่อมแซมหลักเขต ป้าย หรือเครื่องหมายอื่นที่ชำรุด เสียหาย หรือสูญหายด้วย และคณะกรรมการจัดการป่าชุมชนและสมาชิกป่าชุมชนต้องให้ความร่วมมือในการดำเนินการนี้ด้วย

หลักเกณฑ์ วิธีการ และรูปแบบ ในการจัดให้มีหลักเขต ป้าย หรือเครื่องหมายอื่นตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด

 

มาตรา ๕๐  ภายในป่าชุมชน สมาชิกป่าชุมชนมีสิทธิเข้าป่าชุมชนเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจและมีสิทธิใช้ประโยชน์จากผลผลิตและบริการป่าชุมชนซึ่งต้องสอดคล้องกับแผนจัดการป่าชุมชนที่คณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดอนุมัติ ในกรณีดังต่อไปนี้

(๑) การเก็บหาของป่าในป่าชุมชน

(๒) การใช้ประโยชน์จากไม้ให้ทำได้ในบริเวณเพื่อการใช้ประโยชน์ โดยต้องไม่ใช้ประโยชน์จากไม้ทรงคุณค่าที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และให้ทำได้ตามความจำเป็นเพียงเฉพาะเพื่อใช้สอยในครัวเรือนของสมาชิกป่าชุมชน หรือใช้ในกิจกรรมสาธารณะภายในชุมชนนั้น

(๓) การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอื่นในป่าชุมชนให้ทำได้ตามความจำเป็นต่อการอุปโภคบริโภคในครัวเรือนของสมาชิกป่าชุมชน หรือใช้ในกิจกรรมสาธารณะภายในชุมชนนั้น

การใช้ประโยชน์จากผลผลิตและบริการป่าชุมชนตามวรรคหนึ่ง ต้องเป็นไปอย่างสมดุลและยั่งยืน ไม่ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ หรือส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในป่าชุมชน และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามระเบียบที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด โดยระเบียบดังกล่าวจะกำหนดข้อห้ามการใช้ประโยชน์จากผลผลิตและบริการป่าชุมชนชนิดหรือประเภทใด หรือกำหนดให้การใช้ประโยชน์จากผลผลิตและบริการป่าชุมชนชนิดใด ประเภทใด หรือกรณีใด ต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดด้วยก็ได้

 

มาตรา ๕๑  คณะกรรมการจัดการป่าชุมชนและสมาชิกป่าชุมชนอาจใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนเพื่อส่งเสริมการศึกษาเรียนรู้และสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในป่าชุมชน รวมทั้งการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โดยชุมชนได้  ทั้งนี้ ภายใต้แผนจัดการป่าชุมชนที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัด

ในการใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนตามวรรคหนึ่ง ห้ามมิให้กระทำการ ดังต่อไปนี้

(๑) กระทำการใด ๆ ที่เป็นการเสื่อมสภาพแก่ป่าชุมชน หรือทำให้เสียหายหรือทำลายทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ

(๒) การกระทำอื่นใดตามระเบียบที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด

 

มาตรา ๕๒  ในกรณีที่คณะกรรมการจัดการป่าชุมชนหรือสมาชิกป่าชุมชนมีความจำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากไม้ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในป่าชุมชนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายอันเนื่องมาจากประสบเหตุภัยพิบัติสาธารณะหรือมีเหตุจำเป็นเพื่อช่วยเหลือราษฎรเป็นกรณีพิเศษ ต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัด

หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด

 

มาตรา ๕๓  บุคคลที่มิใช่สมาชิกป่าชุมชนมีสิทธิเข้าป่าชุมชนเพื่อการศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พักผ่อนหย่อนใจ และเก็บหาของป่าได้เฉพาะเท่าที่กำหนดในข้อบังคับเกี่ยวกับการจัดการป่าชุมชนตามมาตรา ๔๔ (๒)

 

มาตรา ๕๔  บรรดาไม้และของป่าที่ได้มาจากป่าชุมชนตามแผนจัดการป่าชุมชนที่คณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดอนุมัติ หรือตามหลักเกณฑ์ที่พระราชบัญญัตินี้กำหนดไว้ ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม ค่าภาคหลวง หรือค่าใช้จ่ายในการบำรุงป่า

 

มาตรา ๕๕  เงินค่าปรับที่ได้รับตามพระราชบัญญัตินี้อันเกิดจากการกระทำความผิดในป่าชุมชนแห่งใด ให้หักไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการป่าชุมชนนั้นเป็นจำนวนร้อยละห้าสิบของเงินค่าปรับดังกล่าว ส่วนที่เหลือให้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน  ทั้งนี้ ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง

 

มาตรา ๕๖  เพื่อเป็นการสนับสนุนการจัดการป่าชุมชนให้เกิดความยั่งยืน คณะกรรมการนโยบายมีอำนาจกำหนดอัตราและวางระเบียบเกี่ยวกับการให้คณะกรรมการจัดการป่าชุมชนเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ค่าตอบแทน หรือค่าบริการ จากบุคคลที่มิใช่สมาชิกป่าชุมชนเนื่องในการใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนก็ได้

เงินที่เก็บได้ตามวรรคหนึ่ง เงินค่าปรับตามมาตรา ๕๕ เงินที่มีผู้บริจาค เงินสนับสนุนจากรัฐบาลและเงินรายได้อื่น ๆ ให้ตกเป็นของทรัพย์สินส่วนกลางของป่าชุมชนและเก็บรักษาไว้ใช้จ่ายในการจัดการป่าชุมชน หรือตามวัตถุประสงค์ของผู้บริจาค  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด

 

มาตรา ๕๗  ให้คณะกรรมการจัดการป่าชุมชนมีอำนาจทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนกลางของป่าชุมชนและดำเนินคดีเกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนกลางของป่าชุมชนได้

การทำนิติกรรมและการดำเนินคดีตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำโดยมติของคณะกรรมการจัดการป่าชุมชนจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของกรรมการจัดการป่าชุมชนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ และเมื่อคณะกรรมการมีมติเป็นประการใดแล้ว จะมอบอำนาจเป็นหนังสือให้กรรมการคนใดคนหนึ่งทำนิติกรรมและดำเนินคดีเกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนกลางของป่าชุมชนแทนคณะกรรมการจัดการป่าชุมชนก็ได้

 

มาตรา ๕๘  ผู้ใดฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ หรือระเบียบหรือข้อบังคับที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ และก่อให้เกิดความเสียหายแก่สัตว์ พืช ทรัพยากรธรรมชาติ หรือสิ่งแวดล้อมในป่าชุมชน ให้กรมป่าไม้มีอำนาจฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทน ดังต่อไปนี้

(๑) ค่าใช้จ่ายที่รัฐได้จ่ายไปในการเคลื่อนย้ายสิ่งที่ก่อให้เกิดความเสียหายหรือกระทำให้สิ่งนั้นหมดสภาพความเป็นอันตรายหรือความเป็นพิษ ตลอดจนการนำเอาของนั้นมาเก็บ กัก หรือรักษาไว้

(๒) ค่าใช้จ่ายที่รัฐได้จ่ายไปในการทำให้ทรัพยากรธรรมชาติกลับคืนสู่สภาพเดิม

(๓) ค่าใช้จ่ายที่รัฐได้จ่ายไปในการช่วยเหลือเยียวยาบุคคลหรือทรัพย์สินของบุคคลอื่นเนื่องในความเสียหายนั้น

(๔) ค่าดำเนินงานต่าง ๆ ของรัฐในการประเมินความเสียหายและประเมินค่าใช้จ่ายในการเยียวยาผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของบุคคล

(๕) ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่รัฐได้จ่ายในการดำเนินการใด ๆ เพื่อให้ได้รับค่าสินไหมทดแทนตามกฎหมาย

(๖) มูลค่าของทรัพยากรธรรมชาติที่เสียหาย

ในกรณีที่คณะกรรมการจัดการป่าชุมชนได้ออกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการส่วนใดตามวรรคหนึ่ง หรือในกรณีที่การกระทำหรือละเว้นกระทำการใดตามวรรคหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่สมาชิกป่าชุมชนในการใช้ประโยชน์จากผลผลิตและบริการป่าชุมชน ให้คณะกรรมการจัดการป่าชุมชนมีอำนาจเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับกรมป่าไม้หรือมีอำนาจฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนได้

 

มาตรา ๕๙  ให้นำความในมาตรา ๕๘ มาใช้บังคับแก่ผู้กระทำการหรือละเว้นกระทำการใด ๆ ไม่ว่าโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อหรือไม่ก็ตาม และก่อให้เกิดความเสียหายแก่สัตว์ พืช ทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมในป่าชุมชน โดยอนุโลม

 

มาตรา ๖๐  ในการดำเนินคดีตามมาตรา ๕๗ มาตรา ๕๘ และมาตรา ๕๙ คณะกรรมการจัดการป่าชุมชนอาจขอให้พนักงานอัยการดำเนินคดีให้ก็ได้ และให้ได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง

 

มาตรา ๖๑  ในกรณีที่เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินส่วนกลางของป่าชุมชนและคณะกรรมการจัดการป่าชุมชนมิได้ดำเนินการฟ้องคดี ให้อธิบดีมีอำนาจส่งเรื่องให้พนักงานอัยการพิจารณาฟ้องคดีดังกล่าวเพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนความเสียหายเพื่อจ่ายให้เป็นทรัพย์สินส่วนกลางของป่าชุมชนนั้นได้

 

มาตรา ๖๒  บทบัญญัติในมาตรา ๕๘ และมาตรา ๕๙ ไม่เป็นการลบล้างหรือจำกัดหน้าที่และความรับผิดที่บุคคลมีอยู่ตามบทบัญญัติของกฎหมายอื่น และไม่เป็นการตัดอำนาจของผู้มีหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายอื่นที่จะดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของตน

 

หมวด ๖

การควบคุมดูแลป่าชุมชน

                  

 

มาตรา ๖๓  ภายในป่าชุมชน ห้ามมิให้บุคคลใดกระทำการ ดังต่อไปนี้

(๑) ยึดถือ ครอบครอง หรือใช้เป็นที่อยู่อาศัยหรือที่ทำกิน

(๒) ก่นสร้าง แผ้วถาง เผาป่า ขุดหาแร่ ล่าสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า หรือกระทำการด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าชุมชน เว้นแต่เป็นการกระทำของพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อประโยชน์ในการบำรุงรักษาและป้องกันหรือบรรเทาความเสียหายแก่ป่าชุมชน หรือเป็นการกระทำของกรรมการจัดการป่าชุมชน เจ้าหน้าที่ป่าชุมชนหรือสมาชิกป่าชุมชน ตามแผนจัดการป่าชุมชนที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัด

(๓) ใช้ประโยชน์จากไม้ เว้นแต่เป็นการกระทำตามมาตรา ๕๐ (๒) หรือมาตรา ๕๒

(๔) ก่อสร้างสิ่งปลูกสร้าง เว้นแต่เป็นการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการจัดการป่าชุมชนตามมาตรา ๔๔ (๓) เช่น การสร้างหอดูไฟป่า ฝายชะลอน้ำ ที่พักลาดตระเวน หรือศาลาเรียนรู้ โดยสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวต้องมีลักษณะกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม ไม่เป็นการทำลายสภาพธรรมชาติเดิม และต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดก่อน

 

มาตรา ๖๔  เพื่อประโยชน์ในการปกป้อง รักษา และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพในป่าชุมชนให้เป็นไปอย่างสมดุลและยั่งยืน ให้เจ้าหน้าที่ป่าชุมชนซึ่งคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดแต่งตั้งตามมาตรา ๒๗ มีหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(๑) ตรวจสอบพื้นที่และตรวจตราดูแลการดำเนินการใช้ประโยชน์จากผลผลิตและบริการป่าชุมชนของสมาชิกป่าชุมชนและบุคคลที่มิใช่สมาชิกป่าชุมชน และการดำเนินกิจการต่าง ๆ ในป่าชุมชน

(๒) แนะนำ ให้ความรู้ และสร้างจิตสำนึกแก่บุคคลในชุมชนและบุคคลที่อยู่รอบพื้นที่ป่าชุมชนในการดูแลรักษาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพในป่าชุมชน รวมทั้งรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น ขนบธรรมเนียม และวัฒนธรรมประเพณีในท้องถิ่น

(๓) ป้องกันหรือบรรเทาความเสียหายแก่ป่าชุมชน

(๔) สนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการจัดการป่าชุมชนให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้

(๕) รายงานคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดเมื่อปรากฏว่ามีกรณีจะต้องเพิกถอนป่าชุมชนทั้งหมดหรือบางส่วน

 

มาตรา ๖๕  ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ป่าชุมชนตามมาตรา ๖๔ หากพบว่ามีผู้กระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ระเบียบของคณะกรรมการนโยบาย หรือข้อบังคับของคณะกรรมการจัดการป่าชุมชน และไม่อาจเรียกประชุมคณะกรรมการจัดการป่าชุมชนได้ทัน ให้มีอำนาจสั่งให้ผู้นั้นกระทำการหรืองดเว้นการกระทำใด ๆ ในป่าชุมชนได้ หากผู้นั้นไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ให้มีอำนาจสั่งให้ผู้นั้นออกจากป่าชุมชน และให้รายงานคณะกรรมการจัดการป่าชุมชนและคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดทราบโดยมิชักช้า

 

มาตรา ๖๖  ผู้ใดจะเข้าไปกระทำการในป่าชุมชน เพื่อการศึกษา ค้นคว้า วิจัย หรือสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพ ต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดโดยในการอนุญาตอาจกำหนดให้มีการแบ่งปันผลประโยชน์จากการศึกษา ค้นคว้า วิจัย หรือสำรวจนั้นให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องด้วยก็ได้  ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด

ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่การศึกษา ค้นคว้า วิจัย หรือสำรวจทางวิชาการของกรมป่าไม้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง คณะกรรมการจัดการป่าชุมชน เจ้าหน้าที่ป่าชุมชน และพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่ต้องแจ้งให้คณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดทราบและต้องรายงานผลการศึกษาดังกล่าวให้คณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดทราบด้วย  ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด

ในการศึกษา ค้นคว้า วิจัย หรือสำรวจตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ห้ามมิให้นำทรัพยากรชีวภาพออกจากป่าชุมชน เว้นแต่

(๑) ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัด หรือ

(๒) ได้แจ้งให้คณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดทราบ กรณีที่เป็นการดำเนินการโดยกรมป่าไม้หรือกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

 

มาตรา ๖๗  ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจ ดังต่อไปนี้

(๑) เข้าไปในป่าชุมชนเพื่อตรวจสอบและติดตามผลการดำเนินการเกี่ยวกับป่าชุมชนและการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ และในกรณีที่พบว่าคณะกรรมการจัดการป่าชุมชนฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ หรือระเบียบหรือข้อบังคับที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ ให้รายงานผลต่ออธิบดีโดยมิชักช้า

(๒) สั่งให้ผู้หนึ่งผู้ใดออกจากป่าชุมชน หรือให้งดเว้นการกระทำใด ๆ ในป่าชุมชน ในกรณีที่มีข้อเท็จจริงปรากฏหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้

(๓) ค้นบุคคลหรือยานพาหนะ ในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้

(๔) ยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่ใช้หรือได้มาจากการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้หรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบและดำเนินคดี

 

มาตรา ๖๘  ในการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการจัดการป่าชุมชน เจ้าหน้าที่ป่าชุมชน และพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้บุคคลที่เกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกตามสมควร

 

มาตรา ๖๙  ทรัพย์สินที่ยึดไว้ตามมาตรา ๖๗ (๔) ถ้าพนักงานอัยการสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีหรือศาลไม่พิพากษาให้ริบและผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองมิได้ขอรับคืนภายในสองปีนับแต่วันที่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีหรือวันที่ศาลพิพากษาถึงที่สุด แล้วแต่กรณี ให้ตกเป็นของแผ่นดิน

ทรัพย์สินที่ยึดไว้ตามมาตรา ๖๗ (๔) ถ้าในขณะที่ยึดไม่ปรากฏตัวเจ้าของหรือผู้ครอบครองและไม่มีผู้ใดมาแสดงตนเป็นเจ้าของเพื่อขอรับคืนภายในสองปีนับแต่วันยึด ให้ตกเป็นของแผ่นดิน

ทรัพย์สินที่อายัดไว้ตามมาตรา ๖๗ (๔) ถ้าพนักงานอัยการสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีหรือศาลไม่พิพากษาให้ริบ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ถอนการอายัดทรัพย์สินนั้นโดยไม่ชักช้า

ในกรณีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยรายใดถึงแก่ความตาย ให้ทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดไว้ตามมาตรา ๖๗ (๔) ตกเป็นของแผ่นดิน เว้นแต่ภายในสองปีนับแต่วันที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้นถึงแก่ความตายและทายาทของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้นสามารถพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์สินนั้นไม่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้คืนทรัพย์สินนั้นให้แก่ทายาทของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้น

การดำเนินการแก่ทรัพย์สินที่ตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรานี้ ให้เป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง

 

มาตรา ๗๐  ในกรณีที่ทรัพย์สินที่ยึดไว้ตามมาตรา ๖๗ (๔) มีสภาพเป็นของสดของเสียได้หรือในกรณีที่การเก็บรักษาไว้จะเป็นการเสี่ยงต่อความเสียหาย หรือจะเสียค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาเกินค่าแห่งสิ่งของนั้น หรือจะเป็นภาระแก่ทางราชการมากกว่าการนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น ให้ดำเนินการตามควรแก่กรณีตามวิธีการที่อธิบดีกำหนดก็ได้

ทรัพย์สินที่ยึดไว้ตามวรรคหนึ่ง อาจขายทอดตลาดหรือขายโดยวิธีอื่นตามที่อธิบดีกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการดังกล่าว เงินที่ขายได้เมื่อหักค่าใช้จ่ายและค่าภาระที่เกี่ยวข้องแล้วเหลือเงินจำนวนสุทธิเท่าใดให้ยึดเงินนั้นไว้แทน

 

มาตรา ๗๑  ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้กรรมการจัดการป่าชุมชน เจ้าหน้าที่ป่าชุมชน และพนักงานเจ้าหน้าที่แสดงบัตรประจำตัวต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง

บัตรประจำตัวกรรมการจัดการป่าชุมชน เจ้าหน้าที่ป่าชุมชน และพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

 

มาตรา ๗๒  ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้กรรมการจัดการป่าชุมชน เจ้าหน้าที่ป่าชุมชน และพนักงานเจ้าหน้าที่ เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

 

มาตรา ๗๓  ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

 

มาตรา ๗๔  ในกรณีที่คณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดพบว่า คณะกรรมการจัดการป่าชุมชน กรรมการจัดการป่าชุมชน สมาชิกป่าชุมชน หรือเจ้าหน้าที่ป่าชุมชน กระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ระเบียบของคณะกรรมการนโยบาย หรือข้อบังคับของคณะกรรมการจัดการป่าชุมชน คณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดมีอำนาจสั่งการให้คณะกรรมการจัดการป่าชุมชน กรรมการจัดการป่าชุมชน สมาชิกป่าชุมชน หรือเจ้าหน้าที่ป่าชุมชนดังกล่าว กระทำการหรืองดเว้นการกระทำใด ๆ ตามความเหมาะสม

ผู้ได้รับคำสั่งของคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดตามวรรคหนึ่ง ต้องปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดกำหนด

ในกรณีที่ผู้ได้รับคำสั่งของคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดตามวรรคหนึ่ง ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าว ให้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการนโยบายภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง และให้นำความในมาตรา ๓๙ วรรคสี่และวรรคห้า มาใช้บังคับโดยอนุโลม

การอุทธรณ์ไม่เป็นเหตุให้ทุเลาการที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดเว้นแต่คณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัด หรือคณะกรรมการนโยบายจะสั่งเป็นอย่างอื่น

การดำเนินการตามมาตรานี้ ไม่กระทบสิทธิกรมป่าไม้ที่จะดำเนินคดีกับคณะกรรมการจัดการป่าชุมชน กรรมการจัดการป่าชุมชน สมาชิกป่าชุมชน หรือเจ้าหน้าที่ป่าชุมชน

 

มาตรา ๗๕  อธิบดีมีหน้าที่และอำนาจในการส่งเสริมสนับสนุนและติดตามดูแลการดำเนินงานของคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัด และอาจสั่งให้กรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดชี้แจงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดได้

 

มาตรา ๗๖  อธิบดีอาจขอให้คณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดกระทำการหรือยับยั้งการกระทำใด ๆ เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย นโยบายหรือมติของคณะรัฐมนตรีและระเบียบของคณะกรรมการนโยบาย

เมื่อคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดได้รับแจ้งจากอธิบดีตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดพิจารณาและแจ้งผลให้อธิบดีทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำขอ

ในกรณีที่อธิบดีไม่เห็นด้วยกับความเห็นของคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดที่แจ้งตามวรรคสอง ให้อธิบดีนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพิจารณาภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งผลและให้นำความในมาตรา ๓๙ วรรคสี่และวรรคห้า มาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

มาตรา ๗๗  ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ เป็นเหตุให้มีสิ่งปลูกสร้างขึ้นใหม่หรือมีสิ่งอื่นใดในป่าชุมชน ให้คณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดมีอำนาจสั่งให้ผู้กระทำการฝ่าฝืนทำลายหรือรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างหรือสิ่งอื่นใดนั้นออกไปจากป่าชุมชน หรือกระทำการใด ๆ ตามควรแก่กรณีภายในเวลาที่กำหนด

ในกรณีที่ผู้กระทำการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งตามวรรคหนึ่ง หรือเพื่อป้องกันหรือบรรเทาความเสียหายแก่ป่าชุมชน คณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดจะทำลายหรือรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างหรือสิ่งอื่นใดนั้น หรือกระทำการใด ๆ ตามควรแก่กรณีเสียเองก็ได้ และผู้กระทำการฝ่าฝืนมีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายและเงินเพิ่มในอัตราร้อยละยี่สิบห้าต่อปีของค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปในการที่คณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดกระทำการเสียเอง

 

หมวด ๗

การเพิกถอนป่าชุมชน

                  

 

มาตรา ๗๘  อธิบดีมีอำนาจสั่งเพิกถอนป่าชุมชนทั้งหมดหรือบางส่วนได้ ในกรณีดังต่อไปนี้

(๑) คณะกรรมการจัดการป่าชุมชนขอให้เพิกถอนป่าชุมชนตามมาตรา ๔๘

(๒) คณะกรรมการจัดการป่าชุมชนทอดทิ้งไม่จัดการฟื้นฟูป่าชุมชนนั้นต่อไป

(๓) คณะกรรมการจัดการป่าชุมชนไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ หรือระเบียบหรือข้อบังคับที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ อันจะเป็นเหตุให้ป่าชุมชนได้รับความเสียหายหรือมีเหตุไม่ควรไว้วางใจให้จัดการป่าชุมชนต่อไป

(๔) เมื่อมีเหตุผลความจำเป็นทางด้านกิจการเพื่อความมั่นคงของประเทศ โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรี

ในกรณีที่คณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดพบเหตุตาม (๒) หรือ (๓) และเห็นเป็นการสมควรให้เพิกถอนป่าชุมชน ให้คณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดแจ้งต่ออธิบดีเพื่อสั่งเพิกถอนป่าชุมชนต่อไป หรือในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่พบเหตุตาม (๒) หรือ (๓) ให้รายงานต่ออธิบดีเพื่อพิจารณาสั่งเพิกถอนป่าชุมชน

เมื่ออธิบดีมีคำสั่งเพิกถอนป่าชุมชนแล้ว ให้อธิบดีแจ้งคำสั่งเป็นหนังสือให้คณะกรรมการจัดการป่าชุมชนทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีคำสั่ง

ในกรณีที่อธิบดีมีคำสั่งเพิกถอนป่าชุมชนเพราะเหตุตาม (๒) (๓) หรือ (๔) คณะกรรมการจัดการป่าชุมชนมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งเพิกถอนป่าชุมชนต่อคณะกรรมการนโยบายภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งจากอธิบดี และให้นำความในมาตรา ๓๙ วรรคสี่และวรรคห้า มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ในกรณีที่มีการเพิกถอนป่าชุมชนเพราะเหตุตาม (๒) หรือ (๓) ห้ามมิให้กรรมการจัดการป่าชุมชนของป่าชุมชนที่ถูกเพิกถอนนั้นกลับมาเป็นกรรมการจัดการป่าชุมชนตามพระราชบัญญัตินี้อีก

การเพิกถอนป่าชุมชนให้มีผลเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วและในกรณีที่เป็นการเพิกถอนป่าชุมชนบางส่วน ให้มีแผนที่แสดงแนวเขตแนบท้ายประกาศด้วย

 

มาตรา ๗๙  ป่าชุมชนใดที่ถูกเพิกถอนทั้งหมด ให้คณะกรรมการจัดการป่าชุมชนของป่าชุมชนที่ถูกเพิกถอนนั้นตรวจสอบทรัพย์สินส่วนกลางของป่าชุมชนและชำระหนี้ที่ค้างอยู่หรือบังคับตามสิทธิเรียกร้องที่มีอยู่ให้เสร็จสิ้น และรายงานผลต่อคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ประกาศการเพิกถอนป่าชุมชนในราชกิจจานุเบกษา

ในกรณีที่คณะกรรมการจัดการป่าชุมชนดำเนินการไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง กรรมการจัดการป่าชุมชนของป่าชุมชนที่ถูกเพิกถอนนั้นไม่มีสิทธิยื่นคำขอจัดตั้งป่าชุมชนอีกจนกว่าคณะกรรมการจัดการป่าชุมชนจะดำเนินการให้แล้วเสร็จ

เมื่อได้ตรวจสอบทรัพย์สินส่วนกลางของป่าชุมชนและชำระหนี้ที่ค้างอยู่หรือบังคับตามสิทธิเรียกร้องที่มีอยู่เสร็จสิ้นแล้ว ถ้ามีทรัพย์สินส่วนกลางส่วนที่เป็นสังหาริมทรัพย์เหลืออยู่เท่าใดให้ตกเป็นของกรมป่าไม้หรือมอบให้แก่คณะกรรมการจัดการป่าชุมชนของป่าชุมชนอื่นเพื่อใช้ในการจัดการป่าชุมชนนั้นต่อไป  ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดกำหนด

 

มาตรา ๘๐  ทรัพย์สินส่วนกลางของป่าชุมชนที่ถูกเพิกถอน ถ้าเป็นไม้หรืออสังหาริมทรัพย์ให้ตกเป็นของแผ่นดินและให้กรมป่าไม้จัดการตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดต่อไป

 

มาตรา ๘๑  ป่าชุมชนที่ถูกเพิกถอนตามมาตรา ๗๘ อาจมีการนำพื้นที่ดังกล่าวมาขอจัดตั้งป่าชุมชนใหม่อีกก็ได้  ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด และให้นำความในหมวด ๔ การจัดตั้งป่าชุมชน มาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

หมวด ๘

บทกำหนดโทษ

                  

 

ส่วนที่ ๑

โทษทางปกครอง

                  

 

มาตรา ๘๒  ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบของคณะกรรมการนโยบายตามมาตรา ๑๗ ต้องระวางโทษปรับทางปกครองไม่เกินห้าหมื่นบาท และปรับทางปกครองอีกวันละไม่เกินหนึ่งพันบาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง

 

มาตรา ๘๓  ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบของคณะกรรมการนโยบายตามมาตรา ๑๘ ต้องระวางโทษปรับทางปกครองไม่เกินหนึ่งแสนห้าหมื่นบาท และปรับทางปกครองอีกวันละไม่เกินสามพันบาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง

 

มาตรา ๘๔  ผู้ใดไม่มาชี้แจงข้อเท็จจริงหรือส่งเอกสารตามคำสั่งของคณะกรรมการนโยบายหรือคณะอนุกรรมการตามมาตรา ๒๒ โดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องระวางโทษปรับทางปกครองไม่เกินสองหมื่นบาท

 

มาตรา ๘๕  ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับของคณะกรรมการจัดการป่าชุมชนเกี่ยวกับการจัดการป่าชุมชนตามมาตรา ๔๔ (๒) ต้องระวางโทษปรับทางปกครองวันละไม่เกินห้าพันบาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง

 

มาตรา ๘๖  ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย หรือเคลื่อนย้ายหลักเขต ป้าย หรือเครื่องหมายอื่นใดที่จัดให้มีขึ้นตามมาตรา ๔๙ ต้องระวางโทษปรับทางปกครองไม่เกินหกหมื่นบาท

 

มาตรา ๘๗  ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๕๐ มาตรา ๕๑ มาตรา ๕๒ มาตรา ๕๓ หรือมาตรา ๖๖ วรรคหนึ่งและวรรคสอง ต้องระวางโทษปรับทางปกครองไม่เกินหนึ่งแสนบาท

 

มาตรา ๘๘  ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๖๖ วรรคสาม ต้องระวางโทษปรับทางปกครองไม่เกินสามแสนบาท

ในกรณีความผิดตามวรรคหนึ่ง ถ้าเป็นการนำทรัพยากรชีวภาพไปใช้ศึกษาวิจัยเพื่อหาผลประโยชน์ทางการค้าด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษปรับทางปกครองไม่เกินหกแสนบาท

 

มาตรา ๘๙  ผู้ใดไม่อำนวยความสะดวกแก่กรรมการจัดการป่าชุมชน เจ้าหน้าที่ป่าชุมชน และพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๖๘ ต้องระวางโทษปรับทางปกครองไม่เกินสองหมื่นบาท

 

มาตรา ๙๐  ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดตามมาตรา ๗๗ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับทางปกครองไม่เกินสองแสนบาท

 

มาตรา ๙๑  ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีคำสั่งลงโทษปรับทางปกครองตามอัตราหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการนโยบายประกาศกำหนด

ในการกำหนดอัตราโทษปรับทางปกครองตามวรรคหนึ่ง ต้องคำนึงถึงพฤติการณ์แห่งการกระทำ ความเสียหายที่เกิดจากการกระทำนั้น ตลอดจนความหนักเบาของโทษที่จะใช้กับผู้ถูกลงโทษ

 

มาตรา ๙๒  การกระทำใดอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายหลายบททั้งที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้และกฎหมายอื่น ให้ลงโทษปรับทางปกครองตามพระราชบัญญัตินี้ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะ

 

มาตรา ๙๓  ในกรณีที่ผู้ถูกลงโทษปรับทางปกครองไม่ชำระค่าปรับทางปกครอง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลที่มีเขตอำนาจในการพิจารณาคดีอาญาเพื่อบังคับชำระค่าปรับทางปกครอง  ในการนี้ ถ้าศาลพิพากษาให้ชำระค่าปรับทางปกครอง หากผู้นั้นไม่ชำระค่าปรับทางปกครองภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา ให้ยึดทรัพย์สินของผู้นั้นเพื่อชดใช้แทนค่าปรับทางปกครอง แต่มิให้นำมาตรการกักขังแทนค่าปรับมาใช้แก่ผู้นั้น และในกรณีที่ผู้นั้นไม่มีทรัพย์สินให้ยึดหรือทรัพย์สินที่ยึดไม่เพียงพอแก่ค่าปรับทางปกครอง ให้ศาลกำหนดมาตรการให้ผู้นั้นบำเพ็ญประโยชน์สาธารณะหรือมาตรการอื่นตามที่ศาลเห็นสมควร

 

ส่วนที่ ๒

โทษทางอาญา

                  

 

มาตรา ๙๔  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๖๓ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในกรณีความผิดตามมาตรานี้ ถ้าเป็นการกระทำในบริเวณเพื่อการอนุรักษ์หรือกระทำแก่ไม้ทรงคุณค่าที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๙๕  บรรดาไม้ ของป่า หรือทรัพย์สินที่บุคคลได้มาหรือได้ใช้ในการกระทำความผิดหรือมีไว้เพื่อใช้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่ว่าจะเป็นความผิดที่มีโทษทางปกครองหรือโทษทางอาญา ให้ริบเสียทั้งสิ้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่

 

บทเฉพาะกาล

                  

 

มาตรา ๙๖  ในวาระเริ่มแรก ให้คณะกรรมการนโยบายป่าชุมชนประกอบด้วยกรรมการตามมาตรา ๙ (๑) (๒) และ (๓) และอธิบดีกรมป่าไม้เป็นกรรมการและเลขานุการ ปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการนโยบายป่าชุมชนตามพระราชบัญญัตินี้ไปพลางก่อนจนกว่าจะได้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชนตามพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งต้องไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

 

มาตรา ๙๗  ในวาระเริ่มแรก ให้คณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดในจังหวัดที่ยังไม่มีป่าชุมชนและมีการยื่นคำขอจัดตั้งป่าชุมชนในจังหวัดนั้นประกอบด้วย กรรมการตามมาตรา ๒๓ (๑) (๒) (๓) และ (๕) เฉพาะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งจากผู้ซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ มีผลงาน และประสบการณ์เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือมนุษยศาสตร์หรือสังคมศาสตร์จำนวนไม่เกินสองคน และผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคมจำนวนไม่เกินสองคนปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดตามพระราชบัญญัตินี้ไปพลางก่อน จนกว่าจะได้มาซึ่งประธานเครือข่ายป่าชุมชนระดับจังหวัด และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งจากผู้แทนคณะกรรมการจัดการป่าชุมชนในจังหวัด

เมื่อได้อนุมัติให้จัดตั้งป่าชุมชนในจังหวัดตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งผู้แทนคณะกรรมการจัดการป่าชุมชนตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๒๕ โดยเร็ว

 

มาตรา ๙๘  ในวาระเริ่มแรก บรรดาใบอนุญาต อาชญาบัตร และประทานบัตร ตามกฎหมายว่าด้วยแร่ หรือสัมปทานตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม ซึ่งได้ออกให้แก่บุคคลใดไว้แล้วและมีผลอยู่ในเขตป่าชุมชนตามพระราชบัญญัตินี้อยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้ได้ต่อไปเพียงเท่ากำหนดอายุใบอนุญาต อาชญาบัตร และประทานบัตร หรือสัมปทานนั้น ๆ

 

มาตรา ๙๙  ป่าชุมชนที่ได้จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้หรือกฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติ และยังมีอายุโครงการอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าได้รับอนุมัติจัดตั้งเป็นป่าชุมชนตามพระราชบัญญัตินี้ และให้ดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้  ทั้งนี้ ให้ถือว่าการดำเนินการเกี่ยวกับป่าชุมชนตามโครงการดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามแผนจัดการป่าชุมชนตามพระราชบัญญัตินี้ไปพลางก่อนจนกว่าจะมีการจัดทำแผนจัดการป่าชุมชนตามมาตรา ๑๐๒

 

มาตรา ๑๐๐  ป่าชุมชนที่ได้จัดตั้งโดยการสนับสนุนของกรมป่าไม้และอยู่ในพื้นที่อื่นของรัฐและยังมีอายุโครงการอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าได้รับอนุมัติจัดตั้งเป็นป่าชุมชนตามพระราชบัญญัตินี้ และให้ดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้  ทั้งนี้ ให้ถือว่าการดำเนินการเกี่ยวกับป่าชุมชนตามโครงการดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามแผนจัดการป่าชุมชนตามพระราชบัญญัตินี้ไปพลางก่อนจนกว่าจะมีการจัดทำแผนจัดการป่าชุมชนตามมาตรา ๑๐๒

การดำเนินการต่อป่าชุมชนตามวรรคหนึ่งซึ่งหน่วยงานของรัฐที่ปกครองดูแลพื้นที่ไม่ยินยอมให้จัดตั้งเป็นป่าชุมชนต่อไป ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการนโยบายป่าชุมชนกำหนด

 

มาตรา ๑๐๑  ให้สมาชิกป่าชุมชนและคณะกรรมการจัดการป่าชุมชนของป่าชุมชนตามมาตรา ๙๙ และมาตรา ๑๐๐ เป็นสมาชิกป่าชุมชนและคณะกรรมการจัดการป่าชุมชนตามมาตรา ๔๒ แห่งพระราชบัญญัตินี้ จนกว่าจะครบวาระการดำรงตำแหน่งสำหรับกรณีของคณะกรรมการจัดการป่าชุมชน หรือขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ในระเบียบที่ออกตามความในมาตรา ๔๒ วรรคสอง

 

มาตรา ๑๐๒  ให้คณะกรรมการจัดการป่าชุมชนของป่าชุมชนตามมาตรา ๙๙ และมาตรา ๑๐๐ เสนอแผนจัดการป่าชุมชนต่อคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดเพื่อพิจารณาอนุมัติตามพระราชบัญญัตินี้ภายในสองปีนับแต่วันที่ระเบียบว่าด้วยการจัดทำแผนจัดการป่าชุมชนตามมาตรา ๑๗ มีผลใช้บังคับหากดำเนินการไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ป่าชุมชนนั้นเป็นอันถูกเพิกถอนโดยทันที และให้อธิบดีกรมป่าไม้ประกาศผลการเพิกถอนป่าชุมชนนั้นในราชกิจจานุเบกษาภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ป่าชุมชนนั้นถูกเพิกถอน

 

มาตรา ๑๐๓  ในกรณีที่ป่าชุมชนตามมาตรา ๙๙ และมาตรา ๑๐๐ อยู่ในพื้นที่ป่าหรือพื้นที่อื่นของรัฐก่อนวันที่จะมีการประกาศให้พื้นที่นั้นเป็นเขตป่าอนุรักษ์ตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติหรือกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ให้ป่าชุมชนนั้นเป็นป่าชุมชนตามพระราชบัญญัตินี้ และมิให้นำกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติหรือกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่ามาใช้บังคับในพื้นที่ป่าชุมชน เว้นแต่พระราชบัญญัตินี้จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

 

มาตรา ๑๐๔  การดำเนินการออกกฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หากไม่สามารถดำเนินการได้ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรายงานเหตุผลที่ไม่อาจดำเนินการได้ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ

 

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา

นายกรัฐมนตรี


หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรส่งเสริมให้ชุมชนได้ร่วมกับรัฐในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู จัดการ บำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืนในรูปแบบของป่าชุมชน เพื่อให้ชุมชนสามารถจัดการป่าชุมชนและได้ประโยชน์จากป่าชุมชน อันจะส่งผลให้ชุมชนดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศให้มีความสมบูรณ์และยั่งยืน  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้


 

 

 

 

 

 

 

ชญานิศ/ธนบดี/จัดทำ

๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๒

 

ปริญสินีย์/ตรวจ

๑๓ มิถุนายน ๒๕๖๒

 



[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๖/ตอนที่ ๗๑ ก/หน้า ๗๑/๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๒